สารที่เคลือบเปลือกส้ม แอปเปิ้ล มีอันตรายไหม ?
สารเคลือบผิวผลไม้ ได้มาจากไขผสมทั้งที่เป็นไขจากแหล่งตามธรรมชาติ และที่สังเคราะห์ขึ้น แต่จะใช้ได้ต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การเคลือบผิวช่วยปิดบังริ้วรอยขีดข่วนที่ผิวผลไม้ซึ่งเกิดขึ้นได้ระหว่างการเก็บเกี่ยว ทดแทนไขธรรมชาติที่หลุดออกระหว่างการทำความสะอาด และช่วยยืดอายุการสุกของผลไม้ให้ยาวนานขึ้น การเคลือบยังทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อสินค้าจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะความเงางาม สีสันแวววาว นอกจากนี้สารเคลือบปกป้องการสูญเสียน้ำด้วย
ผักและผลไม้ส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบเป็นน้ำและเกิดการสูญเสียน้ำได้ง่าย การสูญเสียน้ำมาก ทำให้ผิวผลไม้เหี่ยว ดังนั้น บรรจุภัณฑ์จึงต้องช่วยรักษาน้ำให้ผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งเป็นความขัดแย้งกับความต้องการการทำให้ผลิตผลเย็น ฉะนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งสองควบคู่กัน แต่การจัดปัจจัย 2 อย่างให้มีความพอดีไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องใช้วิธีการอื่นๆ ช่วย เช่น การเคลือบผิวผลิตผล หรือการเคลือบด้วยพลาสติก
สารเคลือบแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1.แวกซ์ ให้ความเงางามสว่างตา มีจำหน่าย 3 ชนิด คือ
1.1 เทเซอร์ ซี ซีพี แชลแล็ก + ออกซิไดซ์เอธิลีน สำหรับเคลือบผิว ทำให้ผิวมัน ลดการระเหยและลดการหายใจของผลไม้ เป็นสารเคลือบเงาราคาประหยัดที่สุด
1.2 เทฌวอร์ ซี จีแอลพี คือ คลอโรฟินิลเรซิน + ออกซิไดซ์เอธิลีน ใช้กันแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา
1.3 เทฌวอร์ ซี จีแอลเค คือ แชลแล็ก + คาร์นาอูบา ใช้ในญี่ปุ่น
2. สารเคลือบที่สามารถกินได้ ให้ความเงางามน้อยกว่าชนิดแรก แต่ยืดอายุคุณภาพผลไม้ได้ยาวนานกว่า ได้แก่ กัสเทค ซี สเปรย์ นิยมใช้กับผลไม้ประเภท แอปเปิ้ล แพร์ พลับ มะเขือเทศ ผู้บริโภคสามารถรับประทางได้ทั้งเปลือก ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
สำหรับประเทศไทยนิยมสารเคลือบผิวผลไม้แบบแรก คือ แวกซ์ ฝ่ายโภชนาการและโภชนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูล ดังนี้ สารเคลือบผลไม้ที่ส่วนใหญ่จะเห็นชัดเจนบนผิวแอปเปิ้ลหรือส้มเขียวหวาน เรียกชื่อเต็มว่า Wax Soluble มีคุณสมบัติละลายในน้ำปกติได้ ถ้ากินเข้าไปบ้าง ก็ไม่เป็นอันตราย เพราะไตสามารถขับออกได้ แต่ไม่ขอแนะนำ เพราะร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ควรล้างทำความสะอาดหรือเช็ดออกให้สะอาดทุกครั้งที่จะรับประทาน
ส่วนสารที่มีคุณสมบัติให้ความเงามันเหมือน Wax Suloble ที่นิยมใช้อีกอย่างคือ "ไขเทียนที่ไม่ใส่สี" ตัวนี้ยิ่งต้องทำความสะอาดออกให้มาก เพราะเป็นสารที่ไม่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในร่างกาย
สารอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นสารเคลือบผลไม้ได้ก็คือ
เชลแลค (เกรดอาหาร) ซึ่งเป็นสารประเภทไขมัน นิยมนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตสารเคลือบส้มในสหรัฐอเมริกา แคนนาดา เนื่องจากสามารถเพิ่มความมันเงาให้กับผิวส้มได้ดี ต้านทานการซึมผ่านไอน้ำได้ดี และเป็นสารธรรมชาติ โดยประเทศไทยจัดว่าเป็นแหล่งผลิตเชลแลคที่สำคัญของโลก แต่กลับพบว่า สถานการณ์ผลิตภัณฑ์เคลือบผลไม้สดที่มีการใช้ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งทำการศึกษาในพืชเมืองหนาว ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการสารเคลือบผิวสำหรับผลไม้สดโดยเฉพาะส้มถึง 500-700 ตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีราคาขายต่ำสุด 120 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้มีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 60,000,000-84,000,000 บาทต่อปี
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัตร แจ้งชัด ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้วิจัยเพื่อหาแนวทางการผลิตสารเคลือบผลไม้ โดยได้ผลิตเป็น
KU WAX ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เคลือบผลไม้สด ผลิตจากสารประกอบจากธรรมชาติซึ่งอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร
ไม่เป็นอันตราย มีความปลอดภัย
KU WAX มีคุณสมบัติเป็นฟิล์มบางๆ ใช้เคลือบผลไม้เพื่อเพิ่มความมันเงา ลดการสูญเสียน้ำหนักจากการคายน้ำ ลดการหายใจของผลไม้ และยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น โดยผลิตภัณฑ์
KU WAX นี้สามารถลดการนำเข้าและลดต้นทุนของเกษตรกร เนื่องจากสามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศจึงมีราคาถูกลง
โดยจำหน่ายในราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้สามารถลดมูลค่าการนำเข้าได้สูงสุดถึง 10,000,000 – 14,000,000 บาท นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตวัตถุดิบคือเชลแลคอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์เคลือบผลไม้สดที่ผ่านการศึกษาวิจัยในผลไม้เมืองร้อน โดยจากการทดสอบประสิทธิภาพของ KU WAX โดยเคลือบผิวผลไม้ได้แก่ ส้ม ส้มโอ มะนาว มังคุด และมะม่วง พบว่า สามารถเพิ่มความมันเงาทำให้ผลไม้แลดูน่ารับประทาน ลดการสูญเสียน้ำหนัก ชะลอการสุกของผลไม้ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้เป็นอย่างดี และช่วยปิดบังริ้วรอยขีดข่วนที่ผิวผลไม้ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเก็บเกี่ยว KU WAX จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรและผู้จำหน่าย ซึ่งจะช่วยยืดอายุการรักษาผลผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิต และลดค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคลือบผลไม้ราคาประหยัด แถมยังปลอดภัยกับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
แหล่งที่มา: https://rakbankerd.com/agriculture/wb/show.php?Category=agriculture&No=15637